วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เรื่องยุ่ง ๆ ของการประเมินผลงาน

ช่วงนี้องค์การหลาย ๆ แห่งอาจจะยุ่งอยู่กับการเตรียมการเพื่อประเมินผลงาน เพราะใกล้ถึงฤดูแห่งการประเมินผลแล้วสินะ อลิสจึงขอหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเม้าส์ค่ะ หัวหน้างานและพนักงานหลาย ๆ คนจะกังวลใจกับการประเมินผลงาน หัวหน้างานกังวลว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นอีกหลังจากชี้แจงผลประเมินลูกน้องไปแล้ว และลูกน้องจะกังวลใจถึงผลประเมินที่หัวหน้างานให้ กลัวว่าผลประเมินจะออกมาไม่ดี ทางที่ดีก็คือ ประพฤติตนเป็นเด็กดี เชื่อฟังหัวหน้างานในช่วงนี้ จะปลอดภัยที่สุด เผื่อว่าหัวหน้างานจะเห็นความดีของเราบ้าง

อลิสอยากจะแนะนำค่ะว่า การประเมินผลคือการพัฒนาและปรับปรุงผลงานให้ดีขึ้น หัวหน้างานบางคนไม่เคยพูดหรือให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ลูกน้องถึงผลประเมินเลยตลอดระยะเวลาที่เคยทำงานมา ระบบประเมินผลงาน หรือที่เรียกว่า PerformanceAppraisal จึงเกิดขึ้นเพื่อช่วยให้หัวหน้างานมีโอกาสได้พูดคุยและให้ข้อมูลป้อนกลับถึงผลงานของลูกน้องมากกว่าเพียงแต่เป็นการให้คุณให้โทษแก่ลูกน้องเท่านั้น

แต่จะมีหัวหน้างานสักกี่คนที่เล็งเห็นถึงประโยชน์ของระบบการประเมินผลงาน ประเมินแบบขอไปที เพื่อให้มีงานส่งไปยังหน่วยงานบุคคลที่คอยทวงถามถึงแบบฟอร์มประเมินผลงาน บางคนใช้เวลาในการประเมินผลงานของลูกน้องไม่ถึง 10 นาทีบางคนยังไม่เคยดูปัจจัยประเมินที่ใช้เป็นตัววัดผลงานของลูกน้องเลย ดูเพียงแต่ระดับการประเมิน แบบว่าเห็นดีมาก ก็ให้คะแนนดีมากไปตลอดทุกหัวข้อของการประเมิน หรือให้คะแนนในระดับปานกลาง ก็ใส่คะแนนนี้ไปทุกข้อในปัจจัยประเมินผลงาน

เรื่องยุ่ง ๆ ของการประเมินผลงานมีมากค่ะ เอาเป็นว่าลลิสขอเม้าส์เฉพาะเรื่องเด็ดที่จะเป็นอุทธาหรณ์ให้หัวหน้างานทั้งหลายตระหนักและใส่ใจกับการประเมินผลงานให้มาก ๆ นะคะ เรื่องมีอยู่ว่าหัวหน้างานคนหนึ่งเค้าไม่พอใจลูกน้อง เกิดทะเลาะกันในช่วงใกล้ประเมินไม่กี่วันเองนะคะ ลูกน้องดันไปขัดใจหัวหน้างานคนนี้ ไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตามคำสั่งของหัวหน้างาน ท้ายสุดหัวหน้างานไม่พอใจจึงประเมินผลงานให้ลูกน้องคนนี้ต่ำกว่ามาตรฐานในหลาย ๆ ปัจจัยประเมินผลงาน ทั้ง ๆ ที่ลูกน้องคนนี้ทำงานดีมาตลอด เป็นคนที่หัวหน้างานไว้วางใจให้ทำงานสำคัญ ๆ เป็นงานที่ลูกน้องคนอื่น ๆ ไม่สามารถทำได้เลย

ผลที่ตามกลับมาสำหรับหัวหน้างานผู้นี้ก็คือ ลูกน้องไม่พอใจว่าทำไมหัวหน้างานประเมินตนเองแบบนี้ ขอฟังเหตุผลจากหัวหน้างาน ซึ่งตัวหัวหน้างานเองไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้ พูดอ้อม ๆ แบบขอไปทีว่าทำงานไม่ดี ไม่มีผลงาน โดยที่ลูกน้องก็แย้งว่าหัวหน้างานเคยชมตนเองต่อหน้าคนอื่นมาโดยตลอด แล้วทำไมผลประเมินเป็นเช่นนี้ และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำเอาหัวหน้างานคนนี้โดนผู้ใหญ่เรียกไปพบและขอคำอธิบายถึงเหตุผลการประเมิน เพราะแบบฟอร์มชุดนี้จะต้องถูกส่งไปยังหัวหน้าใหญ่ของสายงาน ....... เหตุผลของหัวหน้างานที่ประเมินไปแบบนี้ฟังแล้วไม่ขึ้น ท้ายสุดก็ต้องไปแก้ไขระดับการประเมิน และไปแจ้งลูกน้องใหม่ถึงระดับประเมินที่ตนแก้ไขแล้ว

คุณคิดว่าเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้นกับลูกน้องและหัวหน้างานคนนี้ค่ะ ข้อที่ 1 ลูกน้องมีความรู้สึกไม่ดีกับหัวหน้าแล้ว ถึงแม้หัวหน้างานจะทำดีแค่ไหน ความรู้สึกเสียไปแล้วค่ะ หลังจากนั้นตลอดระยะเวลาที่ลูกน้องคนนี้ทำงานร่วมกับหัวหน้างาน ไม่เคยมีความสุขเลย ผลที่เกิดขึ้นต่อก็คือ ข้อที่ 2 ลูกน้องทำงานไม่ดี ผลงานไม่เกิดขึ้น รู้สึกเบื่อหน่ายกับสภาพแวดล้อมในการทำงานพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมที่ตั้งใจทำงาน กระตือรือร้นและมุ่งมั่นที่จะให้งานเสร็จเรียบร้อย และจากความเบื่อหน่ายก็นำไปสู่ข้อที่ 3 คือ การแสวงหาหนทางที่จะลาออกไปยังหน่วยงานหรือองค์การอื่น แล้วจริงอย่างที่อลิสคิดไว้ค่ะคือ ลูกน้องขอโอนย้ายไปยังหน่วยงานอื่น หัวหน้างานจึงสูญเสียคนเก่ง คนดีมีฝีมือไปโดยปริยายค่ะ

อลิสขอเตือนค่ะว่า หากไม่อยากให้เรื่องยุ่ง ๆ ของการประเมินผลงานเกิดขึ้น จนทำให้เราต้องสูญเสียคนเก่งไป หัวหน้างานจะต้องตระหนักและใส่ใจต่อการประเมินผลงานให้มาก ๆ ตั้งใจและให้เวลากับการประเมินผลงานนะคะ

โดยคุณอลิส จาก http://www.konayutthaya.com/apm/files/PerformanceApprisal.pdf

หวงความรู้

“พี่ ที่พี่ไปสัมมนามา เป็นอย่างไรบ้างหล่ะ” หรือ “พี่ นู๋ไม่เข้าใจงานนี้ที่หัวหน้างานมอบหมายให้ พี่เข้าใจไหม นู๋เห็นพี่พยักหน้าตอนรับฟังคำสั่งจากนาย น่าจะเข้าใจใช่ไหม อธิบายหน่อยแล้วกันนะ” คุณเคยได้ยินประโยคเหล่านี้จากเพื่อนร่วมงานบ้างหรือไม่ ถ้าเป็นคุณจะตอบว่า “ได้” หรือ “ไม่ได้”

คนบางคนไม่อยากจะถ่ายทอดความรู้ที่ตนมีให้คนอื่น ถามทีไรบอกว่าไม่รู้เรื่องทุกที หรือถามทีไรบอกว่าไม่เห็นยากเลย อ่านเองก็น่าจะรู้เรื่อง สรุปก็คือไม่ยอมบอกนั่นเอง อลิสมีสถานการณ์เช่นนี้ที่เพิ่งได้รับฟังเรื่องราวจากแฟนคลับของตน ซึ่งเขียนมาปรึกษาอลิสทางเมล์ว่า เวลาตนเองไปสัมมนาทีไหน มีเพื่อนอยู่คนหนึ่งชอบมาขอข้อมูล ตนเองก็ให้ แต่เวลาไปขอข้อมูลจากเพื่อนคนนี้บ้าง คำตอบที่ได้รับก็คือ ไม่เห็นจะมีอะไรเลย ไม่ต้องรู้หรอก เพราะเป็นเรื่องที่รู้ ๆ กันอยู่แล้ว

อย่าเพิ่งไปคิดแทนคนอื่นค่ะ เราอาจจะมองว่าไม่มีอะไร แต่เพื่อนอีกคนอาจจะมองว่าความรู้ที่ให้นี้เป็นสิ่งที่วิเศษสุด ความคิดคนเราแตกต่างกันไป เหรียญมีสองด้าน อย่าไปมองเพียงแค่ด้านเดียว ลองหันไปมองด้านอื่นที่คุณไม่เคยคาดคิดมาก่อน อลิสอยากจะให้คนในสังคมแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน การให้ความรู้ถือว่าเป็นการให้อย่างหนึ่ง เพื่อเป็นวิทยาทานค่ะ ไม่จำเป็นต้องไปหวงความรู้ที่มี เพราะเกรงว่าเมื่อคนอื่นรู้แล้ว จะเก่งกว่าเรา หรือจะได้ดีกว่าเรา

อลิสมีความเชื่อว่า เมื่อเราให้ เราจะยิ่งได้ ถือว่าเป็นบุญที่เราสร้างและสั่งสมไว้ บุญนี้จะนำพาเราให้มีความสุข อันเนื่องจากผลบุญนี้อาจจะส่งต่อไปยังคนที่เรารักทางอ้อม หรือตัวเราทางตรง อลิสไม่อยากให้หัวหน้างานหวงความรู้กับลูกน้อง ไม่อยากเห็นเพื่อนร่วมงานกลัวว่าเพื่อนอีกคนจะเก่งกว่า การคิดเช่นนี้ ผลที่เกิดขึ้นโดยตรงก็คือ เราจะไม่มีความสุขในการใช้ชีวิตอย่างแท้จริง เพราะใจเราไม่เป็นสุข คิดแต่ทางลบอยู่เสมอ กลัวคนอื่นจะรู้มากกว่า จากสิ่งที่เราบอกเค้าไป

ดังนั้นคุณควรเปิดใจ เปลี่ยนความคิดจาก “หวงความรู้” มาเป็น “การให้ความรู้” ยินดี จริงใจ และส่งเสริมให้ผู้อื่นมีความรู้เช่นเดียวกับตน คุณควรหาโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้รับมากับบุคคลรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นการสรุปในสิ่งที่เรารู้ หรือการให้เอกสารต่าง ๆ จากสิ่งที่เราได้รับมา

และเมื่อคุณให้ความรู้แก่ผู้อื่นแล้ว คุณควรจะเติมเต็มความรู้ใหม่ หาข้อมูลเพิ่มขึ้น การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Learning) เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการแสวงหาความรู้ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะเทคนิคการอ่านหนังสือ จากงานวิจัยพบว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อยมาก ประมาณ 5 บรรทัดต่อปี อลิสอยากจะให้คุณฝึกฝนและอ่านหนังสือเป็นนิสัย แบบว่าวันไหนไม่ได้อ่าน วันนั้นจะรู้สึกไม่สบายใจ อย่างน้อย ๆ วันละครึ่งชั่วโมงก็ยังดีค่ะ แต่คำแนะนำที่อลิสขอฝากไว้ก็คือ ควรจะเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาสาระนะคะ ไม่ใช่เป็นนวนิยาย หรือการ์ตูน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานหรือการดำเนินชีวิตของเราเลย

หากคุณเป็นผู้ให้ความรู้ที่ดี และผู้เติมเต็มความรู้ของตนเองอยู่เสมอแล้วล่ะก็ อลิสรับรองว่าคุณจะเป็นคนเก่งคนหนึ่งที่รู้ในเรื่องต่าง ๆ มากมาย มีความรู้ที่ลึกซึ้ง เพราะตนเองเติมเต็มในเรื่องนั้น ๆ อย่างสม่ำเสมอ เห็นหรือยังค่ะว่า “ยิ่งให้ คุณยิ่งจะได้” โดยที่คุณไม่รู้ตัวเองเลย

อลิสขอฝากคำแนะนำสำหรับผู้รับหรือผู้ขอข้อมูลด้วยนะค่ะว่า การที่คุณขอความรู้ ข้อมูล หรือขออะไรจากคนอื่น จงระวังการใช้คำพูด ต้องรู้จักพูด รู้จักขอ โดยดูกาลเทศะสักหน่อยนะคะ มิใช่ว่าอยากจะได้ข้อมูลอย่างเดียวโดยไม่ระวังคำพูดของตน อาจเป็นไปได้ว่าผู้รู้ข้อมูลนั้น ไม่อยากจะให้ความรู้นั้น เพียงเพราะคำพูดที่คุณพูดกับเขา มิใช่ว่าเขาเป็นคนหวงความรู้ อย่างที่คุณอาจจะเข้าใจไปเองว่า การที่ไม่ให้ข้อมูลนั้น เป็นเพราะ “หวงความรู้”

โดยคุณอลิส จาก http://www.konayutthaya.com/apm/files/knowledget.doc

วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เคล็ดไม่ลับในการพัฒนาพวก Dead Wood

พนักงานที่ได้ชื่อว่าเป็น Dead Wood หรือไม้ตายซากนั้นเป็นกลุ่มคนที่มีผลงาน (Performance) ต่ำ และมี
ศักยภาพ (Potential) ต่ำ พบว่าลักษณะของคนกลุ่มนี้เป็นคนที่ไม่ชอบการเรียนรู้ ไม่สามารถทำงานได้สำเร็จตามเป้าหมายที่หัวหน้างานต้องการ เป็นพวกทำงานอยู่ไปวัน ๆ มาทำงานสาย หรือขาดงานอยู่บ่อย ๆ และบ่อยครั้งที่หัวหน้างานมักจะหนักอกหนักใจกับการบริหารจัดการกับคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาพนักงานในกลุ่มคนแบบนี้ให้มีความรู้ความสามารถในการทำงานที่เพิ่มขึ้น

อลิสขอแนะนำค่ะว่า พนักงานที่ได้ชื่อว่าเป็น Dead Wood นั้นสามารถพัฒนาได้ แต่ต้องใช้เวลา การพัฒนาพวกเขาไม่ใช่เน้นเฉพาะเรื่องการฝึกอบรมเท่านั้น พวกเขาจะไม่ใส่ใจ ไม่สนใจกับการฝึกอบรมโดยเฉพาะการฝึกอบรมในช่วงวันหยุด หรือหลังเลิกงานประจำ หากหัวหน้างานให้พวกเขาฝึกอบรมในวันที่นอกเหนือจากวันทำงาน คำพูดที่มักจะได้ยินก็คือ “พี่ หนูจะได้โอทีหรือไม่” หรือ “พี่ ขอเป็นวันธรรมดาไม่ได้เหรอ วันหยุดหนูไม่อยากไปเรียนเลย เป็นวันพักผ่อนของหนูนะ” หรือ “พี่ ไม่อบรมไม่ได้เหรอ ไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไรเลย ฝึกอบรมไปก็เท่านั้น เอามาใช้กับงานไม่ได้หรอก”

อลิสขอเม้าท์ถึงเรื่องของเพื่อน ๆ ที่มาบ่นให้ฟังเกี่ยวกับพฤติกรรมการแสดงออกของพวก Dead Wood ก็คือ พวกเขามักจะนำงานส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานมาทำ ชอบแว็ปหายหน้าหายตา ไม่อยู่โต๊ะทำงาน ชอบเอาเวลางานไปคุยเล่นกับเพื่อน ๆ และที่สำคัญเวลามีงานด่วนที่ต้องรีบทำให้เสร็จ คนกลุ่มเหล่านี้ที่เพื่อน ๆ อลิสเจอะเจอก็คือ ปฏิเสธไม่รับงานด่วนนั้น รวมถึงเป็นคนที่ไม่ชอบความก้าวหน้า มีความคิดที่ว่า “ยิ่งสูงยิ่งหนาว” จึงทำให้พวกเขาไม่มีความต้องการ ไม่มีความอยากที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งงาน และไม่ชอบการโอนย้ายงานเลย

ผู้เป็นหัวหน้างานไม่ต้องท้อใจนะคะ หากจะต้องพัฒนาความสามารถของพนักงานที่เป็น Dead Wood จะทำอย่างไรดี เพราะพนักงานเหล่านี้ไม่ชอบเรียนรู้ ไม่ชอบพัฒนาตนเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อลิสมีเคล็ดไม่ลับมาฝากบอกในการพัฒนาคนกลุ่มเหล่านี้ ได้แก่ การให้ใจ “Heart – เข้าถึงจิตใจ” อลิสอยากจะให้หัวหน้างานเอาใจใส่เรื่องจิตใจของพนักงาน DeadWood เป็นพิเศษ ไม่ควรจูงใจพวกเค้าด้วยเรื่องงานเป็นหลัก หัวหน้างานควรจะต้องรู้ว่าอะไรคือเป้าหมายหรือความต้องการสูงสุดในชีวิตของคนกลุ่มนี้ เช่น ต้องการมีเงินเยอะๆ ต้องการเปิดร้านขายของ ต้องการเรียนต่อให้จบ เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาความสามารถในการทำงานของคนกลุ่มนี้ หัวหน้างานจะต้องพูดคุยถึงความต้องการของคนกลุ่มนี้ก่อน และค่อยเชื่อมโยงถึงสิ่งที่ลูกน้องต้องการกับการโปรแกรมการพัฒนาลูกน้อง อลิสขอตัวอย่างคำพูดในการเชื่อมโยงความต้องการของลูกน้องกับ โปรแกรมการพัฒนาลูกน้อง ดังนี้ค่ะ “พี่รู้มาว่าเรามีความฝันว่าสักวันหนึ่งเราจะเปิดร้านขายของ รู้หรือไม่ว่าคนเป็นเจ้าของร้านต้องมีความสามารถอะไร ความสามารถหลักที่จะต้องมีนะก็คือ มีหัวใจของการบริการ (Service Mind) พี่เองอยาจะช่วยเราให้พัฒนาความสามารถด้านนี้ขึ้นมา พี่เลยมีโปรแกรมการพัฒนาเรานะ ก็คือการส่งเราไปฝึกอบรม และการสอนงาน ซึ่งพี่จะสอนเทคนิควิธีการสร้างจิตสำนึกบริการให้เรานะ เพราะการมีความสามารถด้านนี้ พี่รับรองว่าต่อไปเมื่อความฝันเราเป็นจริง เราได้เปิดร้านขายของ รับรองว่าลูกค้าจะเข้ามาในร้านเราเยอะ เพราะชอบใจกับการให้บริการของเรานะ”

เห็นไหมค่ะว่า เพียงแค่ให้ใจ ดูแลเอาใจใส่ถึงจิตใจหรือความฝันของพนักงานที่ได้ชื่อว่า Dead Wood พวกเขาจะเปลี่ยนพฤติกรรมทันที พวกเขาจะชอบการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองเพื่อสานฝันที่เขาต้องการในอนาคต......หัวหน้างานทั้งหลายลองเอาเคล็ดไม่ลับนี้ไปใช้ดูนะคะ อลิสมีความเชื่อว่าสักวันหนึ่งลูกน้องของเราจะเปลี่ยนพฤติกรรม จะชอบโปรแกรมการพัฒนาที่หัวหน้างานใส่ให้กับพวกเขาค่ะ


โดยคุณอลิส จาก http://www.konayutthaya.com/apm/files/deadwood.pdf

วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ทำงานแล้วไม่มีอนาคต....ทำไปทำไมกัน

คุณเคยถามตนเองหรือไม่ว่า อนาคตการทำงานของคุณอยู่ที่ตรงไหน คุณเห็นความก้าวหน้าของงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันบ้างหรือไม่ ขอให้คุณใช้เวลาว่างคิดทบทวนไตร่ตรองว่าตั้งแต่ต้นปีจนกระทั่งจะปลายปีแล้ว คุณมีผลงานหรือขีดความสามารถในการทำงานเพิ่มขึ้นหรือไม่ อะไรบ้าง

หากคุณค้นพบคำตอบว่า ทำงานอยู่ในปัจจุบันไม่มีอนาคตเลย ความสามารถก็ไม่เพิ่มขึ้น ทำงานไม่มีความก้าวหน้า จะทำอย่างไรดี อลิสเชื่อว่าอนาคตอยู่ที่ตัวเรา หากเรามองว่าทำงานที่นี่แล้วไม่มีอนาคต ไม่เห็นมีใครหยิบยื่นความก้าวหน้ามาให้เลย คุณกำลังคิดผิดค่ะ ความคิดเช่นนี้จะมีผลทำให้คุณมีพฤติกรรมไม่อยากจะมาทำงาน ทำงานถูกบ้างผิดบ้าง เพราะคิดว่าทำดีไปก็เท่านั้นไม่เกิดประโยชน์มากมายกับตัวเราเลย ทำงานมาก ตำแหน่งงานก็เหมือนเดิม เงินเดือนไม่เพิ่มขึ้น อนาคตดูเหมือนจะมืดสนิท

อลิสขอเม้าท์ถึงเพื่อนพนักงานหลายคนที่บ่นว่าเบื่อ เซ็ง ท้อใจ ทำงานแล้วไม่มีอนาคต บ้างก็บอกว่าตนเองเป็นลูกเมียน้อย ไม่ใช่คนโปรดของหัวหน้างาน หรือบ้างก็บอกว่าตนเองทำงานเยอะ แต่เงินเดือนกลับไม่เพิ่มขึ้น ผิดกับเพื่อนอีกคนที่วัน ๆ ไม่ค่อยจะทำงาน แต่กลับเป็นที่โปรดปรานของหัวหน้างาน .......แล้วอนาคตจะอยู่ที่ตรงไหนกัน

พบว่าความคิดที่ว่า “ทำงานแล้วไม่มีอนาคต จะทำไปทำไมกัน” สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ควรจะนำมาคิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะความคิดเหล่านี้ถือว่าเป็นความคิดเชิงลบ ที่คอยตอกย้ำทำหน้าที่คอยทิ่มแทงจิตใจของเราอยู่ตลอดเวลา เป็นการทำร้ายจิตของเราทางอ้อมค่ะ ส่งผลทำให้จิตเราอ่อนแอ ขาดพลัง และเมื่อไหร่ก็ตามที่จิตขาดพลัง เมื่อนั้นเชื้อโรคที่เป็นปัญหาคอยบั่นทอนชีวิตการทำงานของเราจะเกิดขึ้น อันเป็นเหตุให้การทำงานของเราขาดประสิทธิภาพ จนทำให้หัวหน้างานต้องคอยว่ากล่าวหรือตักเตือนถึงผลงานที่ไม่เป็นไปตามความต้องการของหัวหน้างาน

ดังนั้นหากเรารู้ตัวว่ากำลังรู้สึกเห็นดีเห็นงามกับประโยคที่ว่า “ทำงานแล้วไม่มีอนาคต จะทำไปทำไมกัน” อลิสอยากจะให้คุณตั้งคำถาม และค่อย ๆ ตอบตนเอง ดังคำถามต่อไปนี้
• สิ่งที่คุณกำลังคิดนั้นเป็นเรื่องจริงมากน้อยกี่เปอร์เซ็นต์ คุณกำลังคิดไปเองอยู่หรือไม่
• หากสิ่งที่คุณกำลังคิดนั้นเป็นเรื่องจริง คุณสามารถหาทางออกที่ดีกว่าการทำงานอยู่ในองค์การปัจจุบันหรือไม่ และคุณได้ใช้ความพยายามมากน้อยขนาดไหนที่จะแสวงหาทางออกใหม่ของคุณ
• หากคุณตอบว่ายังไม่สามารถหาทางเลือกใหม่ที่ดีกว่าเดิมได้ แล้วคุณสามารถเปลี่ยนความคิดให้มองงานนั้นเป็นงานที่มีอนาคตที่สดใสได้หรือไม่
• ถ้าคุณตอบว่าได้ อลิสขอให้คุณหันกลับมามองตนเองว่า เราควรจะสร้างอนาคตสำหรับการทำงานอยู่ในองค์การปัจจุบันได้อย่างไร

“สองมือเราเป็นผู้สร้าง และสองมือเราเป็นผู้ทำลายเช่นเดียวกัน” นั่นก็คือ อนาคตไม่ไกลเกินเอื้อม จนเราไม่สามารถสร้างมันให้เกิดขึ้นได้ เพียงแต่ว่าเราอย่าท้อใจหรือพยายามตอกย้ำเตือนจิตใจด้วยความคิดเช่นนี้อยู่ตลอดเวลา .... จงมองคนที่ประสบความสำเร็จ พวกเขาจะมีลักษณะที่เหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือ “ทำงานอยู่ด้วยความหวัง เป็นความหวังของอนาคตที่จะต้องดีกว่าเดิมอยู่เสมออนาคตที่ดีนั้นอยู่ไม่ไกลเกินที่จะไขว่ขว้ามัน”

โดยคุณอลิส จาก http://www.konayutthaya.com/apm/files/career.pdf

วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2551

12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ



ประวัติความเป็นมาของวันแม่

วันแม่แห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยริเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2519 โดยคณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จนถึงปัจจุบัน



ดอกมะลิ เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ ก็เนื่องจาก ดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่มีสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไปไกลและหอมได้นาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับความรัก อันบริสุทธิ์ของแม่ ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลาย...
งานวันแม่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ.สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อมาจึงต้องงดไป เมื่อวิกฤติสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามให้มีวันแม่ขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง ต่อมาวันแม่ที่รัฐบาลรับรอง คือวันที่ 15 เมษายน โดยเริ่มจัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน ต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถวันที่12 สิงหาคมเป็นวันแม่แห่งชาติและกำหนดให้ดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่คือดอกมะลินับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อย่ารักแม่ ตามกระแส แค่สิงหา

ปีละครั้ง ค่อยบอกว่า รักแค่ไหน

เพียงคำพูด ยังน้อยนิด หากคิดไป

อย่าทำให้ เพราะนึกได้ ในสักวัน

ตั้งแต่เล็ก จนเติบใหญ่ ใครเล่าเลี้ยง

ตลอดมา ไม่เคยเลี่ยง ไม่ผ่อนผัน

ไม่เคยรอ เทศกาล วันสำคัญ

รักที่ให้ ไม่มีคั่น เสี้ยวเวลา

ถ้าหากพอ กรองสำนึก ตรึกตรองได้

ทุกทุกวัน ยิ่งใหญ่ได้ *ใช่สิงหา

ชีวิตหนึ่ง กำเนิด ได้เกิดมา

ก็ควรค่า ทดแทนผู้ มอบชีวิน

(คำอธิบาย***ใช่สิงหา แปลว่า ไม่ใช่แค่สิงหา)





















































































วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2551

จงทำงานเมื่อตัวคุณเองมีความพร้อม

หลายครั้งที่มองกันว่า ยิ่งเร็วยิ่งได้เปรียบ องค์การต่าง ๆ จึงพยายามสร้างความเป็นผู้นำของตลาดด้วยความเร็ว การนำเอาระบบนั้นระบบนี้มาใช้ก่อน เพียงเพราะเข้าใจว่าจะได้ติดตลาดและเป็นที่รู้จักไวกว่าคนอื่น หากองค์การที่พยายามนำตลาดด้วยความพร้อม แน่นอนค่ะว่าองค์การเหล่านั้นย่อมจะประสบผลสำเร็จในการเป็นผู้บุกเบิกตลาดก่อน แต่หากว่าเมื่อใดก็ตามที่องค์การยังไม่พร้อม ระบบยังไม่ดี ความเป็นผู้หรือผู้บุกเบิกตลาดก่อนอาจจะเสียเปรียบ อลิสขอยกตัวอย่างประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นกับตนเองมาเม้าท์ให้ฟังนะคะว่า ตนเองไปซื้ออินเตอร์เน็ตแบบไร้สายมาใช้ คนขายบอกว่าใช้ได้ดี ความเร็วสูง แต่ใช้ได้เฉพาะกรุงเทพฯและต่างจังหวัดบางพื้นที่เท่านั้น อลิสก็ตกลงซื้อนะคะ แต่สุดท้ายมาเปิดเข้าที่บ้าน (กรุงเทพฯ) ไม่สามารถเปิดได้ หรือในบางครั้งเปิดได้ แต่จะช้ามาก ๆ สร้างความหงุดหงิดมากขึ้นไปอีก ทำให้คิดไปว่า “รู้อย่างนี้ใช้อินเตอร์แบบตามร้านค้าทั่วไป แบบเดิมที่เคยซื้อเป็นครั้ง ๆ ก็จะดีกว่า” ผลสุดท้ายคือ อลิสไม่กล้าแนะนำให้ใครต่อใครใช้อินเตอร์ความเร็วสูงแบบนี้อีกแล้ว ภาพพจน์ของสินค้าหรือของยี่ห้อนี้ดูไม่ดีเลยค่ะ


แล้วเกี่ยวข้องกับการทำงานของคนอย่างไร – จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ประสบมานี้เอง ทำให้อลิสมองไปถึงพฤติกรรมการทำงานของคน คนเราหากทำงานแบบรีบร้อน ส่งงานก่อนเพื่อหวังจะสร้างความโดดเด่น หรือสร้างความได้เปรียบให้กับตนเองหวังว่าจะทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ ทั้งๆ ที่ที่ข้อมูลที่ตนเองได้รับยังไม่พร้อม คุณผู้อ่านลองคิดดูนะคะว่า หากผลงานเหล่านั้นเมื่อถูกนำส่งให้กับลูกค้า ในขณะที่งานที่นำส่งนั้นยังไม่พร้อมดี เนื่องจากไม่มีข้อมูลมาสนับสนุนเท่าที่ควร จะเกิดอะไรขึ้น???


ถ้าคุณตอบลูกค้าไม่ได้ และงานที่ส่งมอบให้ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้เลย ก็เท่ากับว่าผลงานนั้นคุณทำขึ้นมาสูญเปล่าทันทีนะคะ อลิสขอเม้าท์เรื่องของเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ทำงานการตลาดที่ต้องออกแบบดีไซน์สินค้า เขาเล่าให้ฟังว่าเพิ่งรับงานจากลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่ง แต่ที่น่าแปลกก็คือ ดูสีหน้าเพื่อนคนนี้แล้ว ไม่ค่อยจะดีใจเท่าไหร่ ถามไปถามจึงรู้ต้นเหตุของความไม่สบายใจว่า เขาไปรับปากลูกค้าว่าจะส่งงานในสัปดาห์ นับจากวันที่รับปากลูกค้าไปแล้ว ปัญหาอยู่ที่ว่าอาจจะส่งงานให้ตามสัญญากับลูกค้าไว้ไม่ทัน แต่ที่ยิ่งร้ายไปกว่านั้นก็คือ ไม่สามารถหาข้อมูลภายนอกมา Benchmark หรือมาเปรียบเทียบตามคำขอ
จากลูกค้าได้ เพราะเวลากระชั้นเกินไป อลิสก็แปลกใจว่า หากเขาไม่พร้อมก็ไม่ควรบอกลูกค้าไปเช่นนั้น คำตอบที่เพื่อนคนนี้บอก คือ ถ้าไม่บอกแบบนั้น เกรงว่าจะไม่ได้งาน เนื่องจากมีคู่แข่งเจ้าอื่น ๆ อยู่มาก ผลที่เกิดขึ้นจากกรณีศึกษานี้ก็คือ ส่งงานให้ลูกค้าแบบลวก ๆ ขอให้มีส่งตามที่แจ้งลูกค้าไว้ ในที่สุดลูกค้าไม่พอใจกับผลงานนี้เท่าที่ควร เนื่องจากว่าผลงานที่ส่งไม่ตรงตามคอนเซ็ปที่ลูกค้าได้แจ้งไว้ แต่ที่สำคัญมากไปกว่านี้ก็คือ เพื่อนอลิสไม่สามารถตอบคำถามหรือหาข้อมูลภายนอกมาเปรียบเทียบได้มากอย่างที่ลูกค้าต้องการ


เห็นไหมค่ะว่า ความเร็วอาจจะไม่ใช่คำคอบสุดท้าย การที่คุณทำงานด้วยความรวดเร็ว ในขณะที่ตนเองยังไม่พร้อมเท่าไหร่ ผลเสียจะเกิดขึ้นมากกว่าผลดี อลิสอยากจะให้คิดก่อนค่ะว่างานที่จะส่งให้ลูกค้ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามงานที่ส่งให้เกิดความไม่พร้อมเลย ก็เท่ากับว่าคุณอาจจะต้องเสียลูกค้าต่อไปในอนาคต เป็นผลระยะยาวกว่านะคะ แต่ผลที่เกิดขึ้นไม่หยุดเพียงเท่านี้ค่ะ ลูกค้าเหล่านั้นจะไปบอกต่อ ๆ กับลูกค้าหรือคนอื่น ๆ ที่พวกเขารู้จัก แบบลูกโซ่ ........ อย่าลืมนะคะว่า ยุคสมัยนี้ข่าวสารต่างๆ ฉับไว แบบเข้าถึงกันได้อย่างรวดเร็ว


สรุปว่า จงทำงานเมื่อคิดว่าตนเองพร้อม และผลลัพธ์สุดท้ายก็คือ ทั้งตัวคุณเองและตัวลูกค้าที่ต้องนำผลงานที่คุณไปใช้ต่อย่อมแฮปปี้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งคุณเองมีโอกาสได้ลูกค้าใหม่ จากการบอกต่อ ๆ กันแบบที่คุณไม่รู้ตัวมาก่อนเลยก็ว่าได้ค่ะ



โดยคุณอลิส http://www.konayutthaya.com/apm/files/readiness.pdf

วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551

บริหารลูกน้องที่เคยเป็นเพื่อนอย่างไรดี

ทำอย่างไรดีที่ต้องบริหารปกครองลูกน้องที่เคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน เคยทำงานร่วมกัน เคยกินเที่ยวหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน มันรู้สึกแปลกดีนะ ไม่รู้จะทำตัวอย่างไร จะมอบหมายงานให้ก็ไม่กล้า จะว่ากล่าวตักเตือนก็เกรงใจเพื่อน แฟนคลับของ อลิสเคยมีคำถามหรือมีความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นบ้างหรือไม่ค่ะ

ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเม้าท์ก็เพราะว่า เมื่อวานนี้เพื่อนสนิทของอลิสโทรมาปรึกษาว่าตนเองจะทำตัวอย่างไรกับการปกครองลูกน้องที่เคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน ตอนนี้มีลูกน้องอยู่ 3 คน คนหนึ่งเคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน อีกคนเป็นรุ่นพี่ที่มีอายุตัวมากกว่าสำหรับลูกน้องอีกคนไม่มีปัญหาอะไรมากนัก เนื่องจากเป็นคนใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงาน อายุงานน้อยกว่า สำหรับปัญหาที่กำลังหนักอกหนักใจอยู่ตอนนี้ก็คือ คนที่เป็นเพื่อนร่วมงานนี่สิ จะทำอย่างไรดี

อลิสเชื่อว่าไม่ใช่เฉพาะแต่เพื่อนสนิทของอลิสที่เคยเจอะเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ และหากคุณต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นเดียวกับเพื่อนอลิส ไม่ต้องกลุ้มอกกลุ้มใจไปนะคะ ปัญหาทุกอย่างมีทางออก สำคัญอยู่ที่ว่าคุณจะเลือกทางออกแบบใดก็เท่านั้นเอง ก่อนอื่นอลิสอยากจะให้คุณลองสำรวจตนเองก่อนว่าคุณคิดที่อยากจะเจริญก้าวหน้าในสายอาชีพ เคยคิดอยากจะเป็นหัวหน้างานหรือเป็นผู้จัดการบ้างหรือไม่

หากคุณต้องการความก้าวหน้าในอาชีพ ไม่ต้องการหยุดนิ่งแค่ตำแหน่งงานที่ได้รับมอบหมายอยู่ในปัจจุบัน การบริหารจัดการลูกน้องถือว่าเป็นโอกาสที่คุณได้ฝึกฝีมือที่ไม่เพียงแต่เฉพาะการบริหารงานของตนเองให้สำเร็จเรียบร้อยไปเท่านั้น แต่จำเป็นจะต้องรู้จักบริหารปกครองคนด้วย ทำอย่างไรให้ลูกน้องรัก และพร้อมใจที่จะทำงานให้กับหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงานเป็นลูกน้องอีกประเภทหนึ่งที่หัวหน้างานหลาย ๆ คนไม่ต้องการเผชิญกับสถานการณ์เช่นที่ว่านี้

การยอมแพ้แล้วถอยหนีด้วยวิธีการลาออกนั้นไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่ดีที่สุด คำตอบที่ดีที่สุดก็คือ จงทำให้ดีที่สุดก่อน ก่อนคิดที่จะลาออกจากองค์การไป อลิสขอฝากเทคนิคง่าย ๆ ในการบริหารปกครองลูกน้องประเภทที่ว่านี้ ดังต่อไปนี้ค่ะ

สร้างศรัทธาด้วยขีดความสามารถของคุณเอง – จงทำให้เพื่อนร่วมงานคนนี้ยอมรับในความสามารถและศักยภาพของตัวคุณเองต้องพิสูจน์ให้ลูกน้องเห็นว่าเราเป็นหัวหน้างานที่มีความสามารถ สามารถแก้ไขปัญหา ให้คำปรึกษาแนะนำ สามารถบริหารทีมงานและบริหารเป้าหมายของหน่วยงานให้บรรลุผลสำเร็จได้ ความศรัทธาที่คุณสร้างขึ้นย่อมจะเป็นตัวกระตุ้นและผลักดันให้ลูกน้องเคารพ และยอมปฏิบัติตามภาระงานที่ได้รับมอบหมายที่แตกต่างกันไป

เด็ดขาดเมื่อต้องเด็ดขาด – ต้องแยกกันค่ะระหว่าง เพื่อนก็เพื่อน การเป็นเพื่อนกันมาก่อนไม่ใช่หมายความว่าเราไม่สามารถมอบหมายงานหรือว่ากล่าวตักเตือนลูกน้องคนนั้นไม่ได้หรอกนะคะ หากสถานการณ์นั้นจำเป็นจะต้องว่ากล่าวก็ต้องทำค่ะ ไม่ใช่ว่าเราปล่อยปะละเลยไป เพราะเห็นแก่ความเป็นเพื่อน ไม่เคยบอกเค้าเลยว่างานที่ส่งมอบไม่ได้ตรงตามมาตรฐานที่เราต้องการ การทำงานแบบนี้เป็นการทำร้ายทั้งตัวเพื่อนและตัวคุณเอง ลูกน้องไม่พัฒนา และตัวคุณเองก็ต้องเหนื่อยเองในที่สุดค่ะ

เข้าถึงจิตใจ ความต้องการ – ลูกน้องที่เคยเป็นเพื่อนกัน ลึก ๆ แล้วส่วนหนึ่งเค้าอาจจะคิดน้อยใจ เสียหน้า อับอาย เพราะตนเองเป็นเพื่อนแต่ยังอยู่แค่ตำแหน่งงานนี้เท่านั้น (เฉพาะกับลูกน้องที่ยอมรับเหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้ค่ะ) คุณไม่ควรแสดงอำนาจหรือทำให้เค้าเสียหน้า การว่ากล่าวตักเตือนคุณจะต้องระวังคำพูดหน่อยนะคะ ไม่ควรพูดต่อหน้าชุมชนมากมาย แนะนำว่าควรพูดกันแบบสองต่อสอง เน้นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน กล่าวชมเชยเค้าหากทำงานได้ดี

อลิสให้เคล็ดไม่ลับแบบง่าย ๆ หากคุณสามารถนำไปปฏิบัติด้วยจิตใจที่บริสุทธ์ หวังว่าจะให้บรรยากาศการทำงานที่ดีขึ้นทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขมากขึ้น อลิสเชื่อว่าเทคนิคดังกล่าวเมื่อคุณนำมาไปใช้แล้ว คุณจะรู้สึกสบายใจมากขึ้นค่ะ .... ลองทำดูนะคะ



โดยคุณอลิส http://www.konayutthaya.com/apm/files/colleage.pdf