วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2551

หวงความรู้

“พี่ ที่พี่ไปสัมมนามา เป็นอย่างไรบ้างหล่ะ” หรือ “พี่ นู๋ไม่เข้าใจงานนี้ที่หัวหน้างานมอบหมายให้ พี่เข้าใจไหม นู๋เห็นพี่พยักหน้าตอนรับฟังคำสั่งจากนาย น่าจะเข้าใจใช่ไหม อธิบายหน่อยแล้วกันนะ” คุณเคยได้ยินประโยคเหล่านี้จากเพื่อนร่วมงานบ้างหรือไม่ ถ้าเป็นคุณจะตอบว่า “ได้” หรือ “ไม่ได้”

คนบางคนไม่อยากจะถ่ายทอดความรู้ที่ตนมีให้คนอื่น ถามทีไรบอกว่าไม่รู้เรื่องทุกที หรือถามทีไรบอกว่าไม่เห็นยากเลย อ่านเองก็น่าจะรู้เรื่อง สรุปก็คือไม่ยอมบอกนั่นเอง อลิสมีสถานการณ์เช่นนี้ที่เพิ่งได้รับฟังเรื่องราวจากแฟนคลับของตน ซึ่งเขียนมาปรึกษาอลิสทางเมล์ว่า เวลาตนเองไปสัมมนาทีไหน มีเพื่อนอยู่คนหนึ่งชอบมาขอข้อมูล ตนเองก็ให้ แต่เวลาไปขอข้อมูลจากเพื่อนคนนี้บ้าง คำตอบที่ได้รับก็คือ ไม่เห็นจะมีอะไรเลย ไม่ต้องรู้หรอก เพราะเป็นเรื่องที่รู้ ๆ กันอยู่แล้ว

อย่าเพิ่งไปคิดแทนคนอื่นค่ะ เราอาจจะมองว่าไม่มีอะไร แต่เพื่อนอีกคนอาจจะมองว่าความรู้ที่ให้นี้เป็นสิ่งที่วิเศษสุด ความคิดคนเราแตกต่างกันไป เหรียญมีสองด้าน อย่าไปมองเพียงแค่ด้านเดียว ลองหันไปมองด้านอื่นที่คุณไม่เคยคาดคิดมาก่อน อลิสอยากจะให้คนในสังคมแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน การให้ความรู้ถือว่าเป็นการให้อย่างหนึ่ง เพื่อเป็นวิทยาทานค่ะ ไม่จำเป็นต้องไปหวงความรู้ที่มี เพราะเกรงว่าเมื่อคนอื่นรู้แล้ว จะเก่งกว่าเรา หรือจะได้ดีกว่าเรา

อลิสมีความเชื่อว่า เมื่อเราให้ เราจะยิ่งได้ ถือว่าเป็นบุญที่เราสร้างและสั่งสมไว้ บุญนี้จะนำพาเราให้มีความสุข อันเนื่องจากผลบุญนี้อาจจะส่งต่อไปยังคนที่เรารักทางอ้อม หรือตัวเราทางตรง อลิสไม่อยากให้หัวหน้างานหวงความรู้กับลูกน้อง ไม่อยากเห็นเพื่อนร่วมงานกลัวว่าเพื่อนอีกคนจะเก่งกว่า การคิดเช่นนี้ ผลที่เกิดขึ้นโดยตรงก็คือ เราจะไม่มีความสุขในการใช้ชีวิตอย่างแท้จริง เพราะใจเราไม่เป็นสุข คิดแต่ทางลบอยู่เสมอ กลัวคนอื่นจะรู้มากกว่า จากสิ่งที่เราบอกเค้าไป

ดังนั้นคุณควรเปิดใจ เปลี่ยนความคิดจาก “หวงความรู้” มาเป็น “การให้ความรู้” ยินดี จริงใจ และส่งเสริมให้ผู้อื่นมีความรู้เช่นเดียวกับตน คุณควรหาโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้รับมากับบุคคลรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นการสรุปในสิ่งที่เรารู้ หรือการให้เอกสารต่าง ๆ จากสิ่งที่เราได้รับมา

และเมื่อคุณให้ความรู้แก่ผู้อื่นแล้ว คุณควรจะเติมเต็มความรู้ใหม่ หาข้อมูลเพิ่มขึ้น การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Learning) เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการแสวงหาความรู้ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะเทคนิคการอ่านหนังสือ จากงานวิจัยพบว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อยมาก ประมาณ 5 บรรทัดต่อปี อลิสอยากจะให้คุณฝึกฝนและอ่านหนังสือเป็นนิสัย แบบว่าวันไหนไม่ได้อ่าน วันนั้นจะรู้สึกไม่สบายใจ อย่างน้อย ๆ วันละครึ่งชั่วโมงก็ยังดีค่ะ แต่คำแนะนำที่อลิสขอฝากไว้ก็คือ ควรจะเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาสาระนะคะ ไม่ใช่เป็นนวนิยาย หรือการ์ตูน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานหรือการดำเนินชีวิตของเราเลย

หากคุณเป็นผู้ให้ความรู้ที่ดี และผู้เติมเต็มความรู้ของตนเองอยู่เสมอแล้วล่ะก็ อลิสรับรองว่าคุณจะเป็นคนเก่งคนหนึ่งที่รู้ในเรื่องต่าง ๆ มากมาย มีความรู้ที่ลึกซึ้ง เพราะตนเองเติมเต็มในเรื่องนั้น ๆ อย่างสม่ำเสมอ เห็นหรือยังค่ะว่า “ยิ่งให้ คุณยิ่งจะได้” โดยที่คุณไม่รู้ตัวเองเลย

อลิสขอฝากคำแนะนำสำหรับผู้รับหรือผู้ขอข้อมูลด้วยนะค่ะว่า การที่คุณขอความรู้ ข้อมูล หรือขออะไรจากคนอื่น จงระวังการใช้คำพูด ต้องรู้จักพูด รู้จักขอ โดยดูกาลเทศะสักหน่อยนะคะ มิใช่ว่าอยากจะได้ข้อมูลอย่างเดียวโดยไม่ระวังคำพูดของตน อาจเป็นไปได้ว่าผู้รู้ข้อมูลนั้น ไม่อยากจะให้ความรู้นั้น เพียงเพราะคำพูดที่คุณพูดกับเขา มิใช่ว่าเขาเป็นคนหวงความรู้ อย่างที่คุณอาจจะเข้าใจไปเองว่า การที่ไม่ให้ข้อมูลนั้น เป็นเพราะ “หวงความรู้”

โดยคุณอลิส จาก http://www.konayutthaya.com/apm/files/knowledget.doc

ไม่มีความคิดเห็น: