วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551

บริหารลูกน้องที่เคยเป็นเพื่อนอย่างไรดี

ทำอย่างไรดีที่ต้องบริหารปกครองลูกน้องที่เคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน เคยทำงานร่วมกัน เคยกินเที่ยวหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน มันรู้สึกแปลกดีนะ ไม่รู้จะทำตัวอย่างไร จะมอบหมายงานให้ก็ไม่กล้า จะว่ากล่าวตักเตือนก็เกรงใจเพื่อน แฟนคลับของ อลิสเคยมีคำถามหรือมีความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นบ้างหรือไม่ค่ะ

ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเม้าท์ก็เพราะว่า เมื่อวานนี้เพื่อนสนิทของอลิสโทรมาปรึกษาว่าตนเองจะทำตัวอย่างไรกับการปกครองลูกน้องที่เคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน ตอนนี้มีลูกน้องอยู่ 3 คน คนหนึ่งเคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน อีกคนเป็นรุ่นพี่ที่มีอายุตัวมากกว่าสำหรับลูกน้องอีกคนไม่มีปัญหาอะไรมากนัก เนื่องจากเป็นคนใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงาน อายุงานน้อยกว่า สำหรับปัญหาที่กำลังหนักอกหนักใจอยู่ตอนนี้ก็คือ คนที่เป็นเพื่อนร่วมงานนี่สิ จะทำอย่างไรดี

อลิสเชื่อว่าไม่ใช่เฉพาะแต่เพื่อนสนิทของอลิสที่เคยเจอะเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ และหากคุณต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นเดียวกับเพื่อนอลิส ไม่ต้องกลุ้มอกกลุ้มใจไปนะคะ ปัญหาทุกอย่างมีทางออก สำคัญอยู่ที่ว่าคุณจะเลือกทางออกแบบใดก็เท่านั้นเอง ก่อนอื่นอลิสอยากจะให้คุณลองสำรวจตนเองก่อนว่าคุณคิดที่อยากจะเจริญก้าวหน้าในสายอาชีพ เคยคิดอยากจะเป็นหัวหน้างานหรือเป็นผู้จัดการบ้างหรือไม่

หากคุณต้องการความก้าวหน้าในอาชีพ ไม่ต้องการหยุดนิ่งแค่ตำแหน่งงานที่ได้รับมอบหมายอยู่ในปัจจุบัน การบริหารจัดการลูกน้องถือว่าเป็นโอกาสที่คุณได้ฝึกฝีมือที่ไม่เพียงแต่เฉพาะการบริหารงานของตนเองให้สำเร็จเรียบร้อยไปเท่านั้น แต่จำเป็นจะต้องรู้จักบริหารปกครองคนด้วย ทำอย่างไรให้ลูกน้องรัก และพร้อมใจที่จะทำงานให้กับหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงานเป็นลูกน้องอีกประเภทหนึ่งที่หัวหน้างานหลาย ๆ คนไม่ต้องการเผชิญกับสถานการณ์เช่นที่ว่านี้

การยอมแพ้แล้วถอยหนีด้วยวิธีการลาออกนั้นไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่ดีที่สุด คำตอบที่ดีที่สุดก็คือ จงทำให้ดีที่สุดก่อน ก่อนคิดที่จะลาออกจากองค์การไป อลิสขอฝากเทคนิคง่าย ๆ ในการบริหารปกครองลูกน้องประเภทที่ว่านี้ ดังต่อไปนี้ค่ะ

สร้างศรัทธาด้วยขีดความสามารถของคุณเอง – จงทำให้เพื่อนร่วมงานคนนี้ยอมรับในความสามารถและศักยภาพของตัวคุณเองต้องพิสูจน์ให้ลูกน้องเห็นว่าเราเป็นหัวหน้างานที่มีความสามารถ สามารถแก้ไขปัญหา ให้คำปรึกษาแนะนำ สามารถบริหารทีมงานและบริหารเป้าหมายของหน่วยงานให้บรรลุผลสำเร็จได้ ความศรัทธาที่คุณสร้างขึ้นย่อมจะเป็นตัวกระตุ้นและผลักดันให้ลูกน้องเคารพ และยอมปฏิบัติตามภาระงานที่ได้รับมอบหมายที่แตกต่างกันไป

เด็ดขาดเมื่อต้องเด็ดขาด – ต้องแยกกันค่ะระหว่าง เพื่อนก็เพื่อน การเป็นเพื่อนกันมาก่อนไม่ใช่หมายความว่าเราไม่สามารถมอบหมายงานหรือว่ากล่าวตักเตือนลูกน้องคนนั้นไม่ได้หรอกนะคะ หากสถานการณ์นั้นจำเป็นจะต้องว่ากล่าวก็ต้องทำค่ะ ไม่ใช่ว่าเราปล่อยปะละเลยไป เพราะเห็นแก่ความเป็นเพื่อน ไม่เคยบอกเค้าเลยว่างานที่ส่งมอบไม่ได้ตรงตามมาตรฐานที่เราต้องการ การทำงานแบบนี้เป็นการทำร้ายทั้งตัวเพื่อนและตัวคุณเอง ลูกน้องไม่พัฒนา และตัวคุณเองก็ต้องเหนื่อยเองในที่สุดค่ะ

เข้าถึงจิตใจ ความต้องการ – ลูกน้องที่เคยเป็นเพื่อนกัน ลึก ๆ แล้วส่วนหนึ่งเค้าอาจจะคิดน้อยใจ เสียหน้า อับอาย เพราะตนเองเป็นเพื่อนแต่ยังอยู่แค่ตำแหน่งงานนี้เท่านั้น (เฉพาะกับลูกน้องที่ยอมรับเหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้ค่ะ) คุณไม่ควรแสดงอำนาจหรือทำให้เค้าเสียหน้า การว่ากล่าวตักเตือนคุณจะต้องระวังคำพูดหน่อยนะคะ ไม่ควรพูดต่อหน้าชุมชนมากมาย แนะนำว่าควรพูดกันแบบสองต่อสอง เน้นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน กล่าวชมเชยเค้าหากทำงานได้ดี

อลิสให้เคล็ดไม่ลับแบบง่าย ๆ หากคุณสามารถนำไปปฏิบัติด้วยจิตใจที่บริสุทธ์ หวังว่าจะให้บรรยากาศการทำงานที่ดีขึ้นทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขมากขึ้น อลิสเชื่อว่าเทคนิคดังกล่าวเมื่อคุณนำมาไปใช้แล้ว คุณจะรู้สึกสบายใจมากขึ้นค่ะ .... ลองทำดูนะคะ



โดยคุณอลิส http://www.konayutthaya.com/apm/files/colleage.pdf

ไม่มีความคิดเห็น: