วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เรื่องยุ่ง ๆ ของการประเมินผลงาน

ช่วงนี้องค์การหลาย ๆ แห่งอาจจะยุ่งอยู่กับการเตรียมการเพื่อประเมินผลงาน เพราะใกล้ถึงฤดูแห่งการประเมินผลแล้วสินะ อลิสจึงขอหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเม้าส์ค่ะ หัวหน้างานและพนักงานหลาย ๆ คนจะกังวลใจกับการประเมินผลงาน หัวหน้างานกังวลว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นอีกหลังจากชี้แจงผลประเมินลูกน้องไปแล้ว และลูกน้องจะกังวลใจถึงผลประเมินที่หัวหน้างานให้ กลัวว่าผลประเมินจะออกมาไม่ดี ทางที่ดีก็คือ ประพฤติตนเป็นเด็กดี เชื่อฟังหัวหน้างานในช่วงนี้ จะปลอดภัยที่สุด เผื่อว่าหัวหน้างานจะเห็นความดีของเราบ้าง

อลิสอยากจะแนะนำค่ะว่า การประเมินผลคือการพัฒนาและปรับปรุงผลงานให้ดีขึ้น หัวหน้างานบางคนไม่เคยพูดหรือให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ลูกน้องถึงผลประเมินเลยตลอดระยะเวลาที่เคยทำงานมา ระบบประเมินผลงาน หรือที่เรียกว่า PerformanceAppraisal จึงเกิดขึ้นเพื่อช่วยให้หัวหน้างานมีโอกาสได้พูดคุยและให้ข้อมูลป้อนกลับถึงผลงานของลูกน้องมากกว่าเพียงแต่เป็นการให้คุณให้โทษแก่ลูกน้องเท่านั้น

แต่จะมีหัวหน้างานสักกี่คนที่เล็งเห็นถึงประโยชน์ของระบบการประเมินผลงาน ประเมินแบบขอไปที เพื่อให้มีงานส่งไปยังหน่วยงานบุคคลที่คอยทวงถามถึงแบบฟอร์มประเมินผลงาน บางคนใช้เวลาในการประเมินผลงานของลูกน้องไม่ถึง 10 นาทีบางคนยังไม่เคยดูปัจจัยประเมินที่ใช้เป็นตัววัดผลงานของลูกน้องเลย ดูเพียงแต่ระดับการประเมิน แบบว่าเห็นดีมาก ก็ให้คะแนนดีมากไปตลอดทุกหัวข้อของการประเมิน หรือให้คะแนนในระดับปานกลาง ก็ใส่คะแนนนี้ไปทุกข้อในปัจจัยประเมินผลงาน

เรื่องยุ่ง ๆ ของการประเมินผลงานมีมากค่ะ เอาเป็นว่าลลิสขอเม้าส์เฉพาะเรื่องเด็ดที่จะเป็นอุทธาหรณ์ให้หัวหน้างานทั้งหลายตระหนักและใส่ใจกับการประเมินผลงานให้มาก ๆ นะคะ เรื่องมีอยู่ว่าหัวหน้างานคนหนึ่งเค้าไม่พอใจลูกน้อง เกิดทะเลาะกันในช่วงใกล้ประเมินไม่กี่วันเองนะคะ ลูกน้องดันไปขัดใจหัวหน้างานคนนี้ ไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตามคำสั่งของหัวหน้างาน ท้ายสุดหัวหน้างานไม่พอใจจึงประเมินผลงานให้ลูกน้องคนนี้ต่ำกว่ามาตรฐานในหลาย ๆ ปัจจัยประเมินผลงาน ทั้ง ๆ ที่ลูกน้องคนนี้ทำงานดีมาตลอด เป็นคนที่หัวหน้างานไว้วางใจให้ทำงานสำคัญ ๆ เป็นงานที่ลูกน้องคนอื่น ๆ ไม่สามารถทำได้เลย

ผลที่ตามกลับมาสำหรับหัวหน้างานผู้นี้ก็คือ ลูกน้องไม่พอใจว่าทำไมหัวหน้างานประเมินตนเองแบบนี้ ขอฟังเหตุผลจากหัวหน้างาน ซึ่งตัวหัวหน้างานเองไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้ พูดอ้อม ๆ แบบขอไปทีว่าทำงานไม่ดี ไม่มีผลงาน โดยที่ลูกน้องก็แย้งว่าหัวหน้างานเคยชมตนเองต่อหน้าคนอื่นมาโดยตลอด แล้วทำไมผลประเมินเป็นเช่นนี้ และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำเอาหัวหน้างานคนนี้โดนผู้ใหญ่เรียกไปพบและขอคำอธิบายถึงเหตุผลการประเมิน เพราะแบบฟอร์มชุดนี้จะต้องถูกส่งไปยังหัวหน้าใหญ่ของสายงาน ....... เหตุผลของหัวหน้างานที่ประเมินไปแบบนี้ฟังแล้วไม่ขึ้น ท้ายสุดก็ต้องไปแก้ไขระดับการประเมิน และไปแจ้งลูกน้องใหม่ถึงระดับประเมินที่ตนแก้ไขแล้ว

คุณคิดว่าเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้นกับลูกน้องและหัวหน้างานคนนี้ค่ะ ข้อที่ 1 ลูกน้องมีความรู้สึกไม่ดีกับหัวหน้าแล้ว ถึงแม้หัวหน้างานจะทำดีแค่ไหน ความรู้สึกเสียไปแล้วค่ะ หลังจากนั้นตลอดระยะเวลาที่ลูกน้องคนนี้ทำงานร่วมกับหัวหน้างาน ไม่เคยมีความสุขเลย ผลที่เกิดขึ้นต่อก็คือ ข้อที่ 2 ลูกน้องทำงานไม่ดี ผลงานไม่เกิดขึ้น รู้สึกเบื่อหน่ายกับสภาพแวดล้อมในการทำงานพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมที่ตั้งใจทำงาน กระตือรือร้นและมุ่งมั่นที่จะให้งานเสร็จเรียบร้อย และจากความเบื่อหน่ายก็นำไปสู่ข้อที่ 3 คือ การแสวงหาหนทางที่จะลาออกไปยังหน่วยงานหรือองค์การอื่น แล้วจริงอย่างที่อลิสคิดไว้ค่ะคือ ลูกน้องขอโอนย้ายไปยังหน่วยงานอื่น หัวหน้างานจึงสูญเสียคนเก่ง คนดีมีฝีมือไปโดยปริยายค่ะ

อลิสขอเตือนค่ะว่า หากไม่อยากให้เรื่องยุ่ง ๆ ของการประเมินผลงานเกิดขึ้น จนทำให้เราต้องสูญเสียคนเก่งไป หัวหน้างานจะต้องตระหนักและใส่ใจต่อการประเมินผลงานให้มาก ๆ ตั้งใจและให้เวลากับการประเมินผลงานนะคะ

โดยคุณอลิส จาก http://www.konayutthaya.com/apm/files/PerformanceApprisal.pdf

ไม่มีความคิดเห็น: