วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2551

คอยจับผิดอยู่ได้

คุณจะรู้สึกอย่างไรหากทำงานแล้วเจอหัวหน้างานคอยจับผิดอยู่ได้ คอยหาเรื่องอยู่ตลอดเวลา วันนี้มีลูกค้าของอลิสมาแชร์ให้ฟังว่า ที่องค์การเขาหัวหน้างานจะดูมีอายุหน่อย ทำงานอยู่ที่องค์การมานาน เป็นลูกหม้อก็ว่าได้ พฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับหัวหน้างานเหล่านั้นก็คือ จะคอยหาเรื่องลูกน้อง มักจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ลูกน้องเสนอ คอยตำหนิติเตียนบอกว่าความคิดที่ลูกน้องเสนอมาใช้ไม่ได้ ไม่ถูกต้อง ..... คุณคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้นลูกน้องคนนี้

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อตัวบุคคลนั่นก็คือ “ลูกน้อง” พวกเขาไม่กล้า กลัวที่จะแสดงความคิดเห็น ไม่อยากจะนำเสนอไอเดียแปลกใหม่ คอยทำงานตามหัวหน้างานสั่งอย่างเดียว และความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้พวกเขาเบื่อหน่ายงานที่ทำ เพราะทำงานด้วยขั้นตอนและวิธีการทำงานแบบเดิม ๆ และท้ายสุดจะส่งผลต่อไปยังผลงานของลูกน้องไม่พัฒนาขึ้นมาเลย

เมื่อลูกน้องทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ผลที่เกิดขึ้นตามมาอีกก็คือ ‘หัวหน้างาน” จะได้รับผลนั้นตามมาก็คือ ผลงานของหน่วยงานไม่เกิดขึ้น หรือถ้าหัวหน้างานอยากจะให้มีผลงานเกิดขึ้น หัวหน้างานคนนั้นจะต้องทำงานหนัก เหตุเพราะลูกน้องไม่มีกะจิตกะใจจะทำงาน หัวหน้างานจะต้องเหนื่อยในการบริหารงาน เหนื่อยกับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงาน รวมถึงต้องคอยตอบคำถามจากผู้ใหญ่ว่าทำไมผลงานของหน่วยงานไม่กระเตื้องขึ้นมาเลย และยิ่งหากหัวหน้างานจะต้องเจอปัญหาลูกน้องลาออกจากงานเพราะเบื่องาน คนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ หัวหน้างาน เนื่องจากหัวหน้างานจะต้องเหนื่อยในการหาคนมารับผิด
ชอบงานชิ้นนั้นแทนลูกน้องคนเดิมที่ลาออกไป รวมถึงต้องเหนื่อยในการสอนงานพนักงานใหม่เหล่านั้น

เห็นไหมค่ะว่าผลที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะแต่ตัวลูกน้องเท่านั้น หัวหน้างานย่อมได้รับผลลัพธ์ตามมาด้วยเช่นเดียวกัน อลิสอยากจะให้หัวหน้างานมองผลระยะยาวที่เกิดขึ้นมากกว่าระยะสั้น การที่หัวหน้างานคอยระแวง ไม่อยากจะให้ลูกน้องแสดงผลงานเพราะกลัวจะได้หน้ามากกว่า ถือได้ว่าเป็นความคิดที่ผิดอย่างมากค่ะ คนที่จะได้หน้าก็คือหัวหน้างานเอง หัวหน้างานไม่จำเป็นต้องคิดวิตกกังวลเลย ไม่ควรน้อยเหนือต่ำใจว่าเราเรียนไม่สูง จบการศึกษาน้อยกว่าลูกน้อง จึงต้องการแสดงอำนาจ แสดงพฤติกรรมที่บ่งบอกว่าตนเองมีความสามารถที่เหนือกว่า ลูกน้องจะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตาม

การศึกษาไม่ได้บ่งบอกถึงผลงานค่ะ หัวหน้างานที่มีการศึกษาไม่สูงมากนัก สิ่งแรกที่ต้องยอมรับให้ได้ ไม่จำเป็นจะต้องหนีตัวเองเลยก็คือ การศึกษาเราไม่สูงกว่าลูกน้อง แต่สิ่งที่เราจะต้องแสดงให้ลูกน้องยอมรับนับถือและนำไปสู่การบอกต่อกับคนอื่นว่าเราเป็นหัวหน้างานที่ดีก็คือ การแสดงออกกับลูกน้องด้วยความเห็นอกเห็นใจ การเปิดโอกาส การยกย่องชมเชย การไม่ระแวงหรือคอยแต่จะหาเรื่องลูกน้องอยู่ตลอดเวลา

อลิสเชื่อว่าพฤติกรรมเหล่านี้จะเป็นบารมี สร้างเกาะคุ้มกันหัวหน้างาน ไม่จำเป็นจะต้องสร้างบารมีของตนเองด้วยการดุว่ากล่าวลูกน้อง หรือวันๆ คอยคิดว่าจะจับผิดลูกน้องคนไหนดี เพราะการกระทำดังกล่าวกลับเป็นการลดบารมีของเรามากกว่า และเมื่อเรามีบารมี เป็นที่รักของลูกน้อง ลูกน้องของเรานี่แหละค่ะจะเป็นเกราะป้องกัน ไม่ให้ใครคิดร้ายหรือมองหัวหน้างานของพวกเขาในทางที่ไม่ดี ลูกน้องจะสนับสนุนยกย่องเราไม่ว่าจะอยู่ในที่ไหน ๆ ก็ตาม

และจากกรณีศึกษาของลูกค้าอลิส พบว่าในองค์กรนั้นจะเต็มไปด้วยคนทำงานเรื่อย ๆ เฉื่อย ๆ ทำงานแบบเดิม ๆ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ทำงานให้ได้เงินไปวันๆ เท่านั้น ไม่ต้องการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองเลย คอยแต่กลัวว่าเมื่อไหร่หัวหน้างานจะหาเรื่องใส่ร้ายหรือจับผิดตนเองอยู่ตลอดเวลา

อลิสขอฝากไว้นะคะว่า จงอย่าทำตนเองให้มีมูลค่าน้อย อย่างเช่นระดับการศึกษาที่จบเลย การศึกษาเราไม่สูงแล้ว ทำไมหัวหน้างานไม่ทำตนเองให้สูงกว่าระดับการศึกษาที่จบ ดังนั้นจงเลิกหวาดระแวงคอยกันลูกน้อง แต่จงให้โอกาสพวกเขาแสดงความสามารถ แสดงผลงาน ..... ท้ายสุดหัวหน้างานนั่นแหละค่ะที่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากพฤติกรรมของเขาเอง


โดยคุณอลิส จาก http://www.konayutthaya.com/apm/files/wrong.pdf

ไม่มีความคิดเห็น: