วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2551

ความสามัคคี

ประมวลคำในพระบรมราโชวาท

สามัคคีที่สำคัญที่สุดคืออะไร ก็คือ สามัคคีในชาติ ไม่ใช่ว่า ความสามัคคีในคณะไม่ดี แต่ต้องระวัง ถ้าสามัคคีกัน แต่ว่าไป ก้าวก่ายหรือไปทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ในสถาบันก็เป็นความผิด ถ้าสามัคคีในสถาบันไปทำให้คนอื่นเสียหายหรือเดือดร้อนก็ไม่ดี เพราะทำให้เสียหายต่อสามัคคีของชาติ ………
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: ๓ เมษายน ๒๕๐๓)

สามัคคีกัน ปรองดองกัน นี่ความหมายของความสามัคคี ใครๆ ก็บอกว่า ให้สามัคคีปรองดองกัน ช่วยเหลือเพื่อประเทศชาติ แต่แปลว่าอะไรก็ไม่รู้ ถ้าคนหนึ่งคนใดในที่ประชุมนี้ เรียกร้องพื้นที่สำหรับยืนเกินจำเป็น โดยอ้างความสุขส่วนตัว คนอื่นก็ต้องประท้วง เราทั้งหลายอยู่ได้ก็เพราะว่า มีความสามัคคีปรองดองกัน
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๑๗)

ที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพราะว่า ตามที่ได้กล่าวเมื่อตะกี้ว่า แต่ละคนจะตั้ง อยู่ในความสามัคคี ช่วยร่วมแรงกัน เพื่อปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ต่ออะไร ตอนนี้ก็ต้องบอกว่า เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม หรือต่อชาติบ้านเมือง เชื่อว่าท่านทั้งหลายก็มีความปรารถนาดีโดยแท้ –ไม่ใช่ดีบ้างไม่ดีบ้าง- ว่าตั้งใจที่จะเข้าหากัน ร่วมแรงกันปฏิบัติงาน เพื่อส่วนรวม เพื่อประเทศชาติ
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๑๙)

คำว่า “สามัคคี” นี้ขอวิเคราะห์ศัพท์ ว่าเป็นการกระทำของแต่ละคน ทำความดีเว้นจากความไม่ดี มีความเข้าใจซึ่งกันและกันของแต่ละบุคคล อย่างนี้ถ้าชาติสามัคคี ชาติก็ไม่แตกสลาย คุมไว้ติด คำว่าคุมนี้ อาจจะไม่ชอบกันเพราะเหมือนควบคุมเพราะเหมือนควบคุม เหมือนคุมขัง แต่คุมหมายความว่าอยู่ติด อยู่เป็นชาติได้
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๒๑)

ยังไม่ได้พูดคำที่เคยพูดทุกครั้ง คือ ต้องสามัคคีกัน ต้องไม่ปัดขากันมากเกินไป แต่ว่าไม่ได้หมายความว่า จะต้องทำแบบที่บางคนนึกจะทำจะต้องให้ทุกคนมีโอกาสทำงาน ทำงานตามหน้าที่ เมื่อทำงานตามหน้าที่แล้วก็ต้องหวังดีต่อผู้อื่นนี้เป็นหลักที่สำคัญ ต้องทำงานด้วยการเห็นอกเห็นใจกันและทำด้วยความขยันหมั่นเพียร
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐)

ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดี มาอวยพรแก่ท่านทุก ๆ คน ทั้งขอขอบใจท่านเป็นอย่างมาก ที่มีไมตรีจิตร่วมมือ สนับสนุนข้าพเจ้า ในภาระทั้งปวงด้วยดีตลอดมา ในรอบปีที่ผ่านไป มีเหตุการณ์หลายอย่าง เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา ที่สำคัญควรแก่การชื่นชม เป็นพิเศษ ก็คือการที่นักกีฬาของเรา ได้เหรียญทอง และเหรียญทองแดง ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ตกถึงปลายปี ก็มีเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดใจ คือเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่ภาคใต้ เป็นผลให้ชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชนต้องสูญเสียไปมิใช่น้อย แต่ภัยพิบัติครั้งนี้ ก็ทำให้ได้เห็นน้ำใจ และความสามัคคีของคนไทย อย่างเด่นชัดอีกครั้งหนึ่ง เราต่างพร้อมใจ และเต็มใจช่วยเหลือกันและกันทันที โดยเต็มกำลังและเสียสละ ข้อนี้น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี ถึงความสามัคคี และความเมตตาปรารถนาดีต่อกัน ที่ยังมีบริบูรณ์ อยู่ในจิตใจของคนไทย ทำให้มั่นใจได้ว่า ไม่ว่าประเทศของเรา จะประสบกับปัญหา หรือภาวะอันไม่ปรกติใด ๆ คนไทยเราจะหันหน้าเข้าหากัน และร่วมมือร่วมใจกัน ปฏิบัติแก้ไข ให้ผ่านพ้นปัญหา หรือภาวการณ์นั้น ๆ ไปได้อย่างแน่นอน
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ : ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๓)

ก่อนลงมานี้ มิได้ตั้งใจจะมาพูดเรื่อง เรื่องพัฒนา ตั้งใจจะมาพูดถึงเรื่อง เรื่องความหายนะ ซึ่งปัจจุบันนี้ ทุกคนทราบดีว่า ประเทศดูเหมือนว่า จะหายนะ ไม่ใช่ พัฒนะ ไม่ใช่วัฒนะ เพราะว่า เดี๋ยวนี้อะไรๆ ดูจะเสื่อมลง ทางนายกฯ ดูนั่งทำหน้ามุ่ย รู้สึก รู้สึกไม่พอใจที่บอกว่า ประเทศหายนะ แต่เป็นความจริง เพราะว่า ทำอะไรมันดูมีปัญหาทั้งนั้น แต่สำหรับท่านนายกฯ น่ะไม่มี นายกฯ Happy แต่ว่า Happy ข้างนอก ดูท่าทาง Happy แต่ข้างในไม่สบายใจ ก็ว่าไม่รู้จะทำยังไง เพราะว่าไม่ก้าวหน้า แต่ยังไง การก้าวหน้านั้น นายกฯ ก็ได้ให้สูตรไว้แล้วว่าทำยังไงให้ก้าวหน้า คือ จะต้องสามัคคีกัน ร่วมกันทำ แล้วถ้าร่วมกันทำ มันก้าวหน้าได้ แต่ถ้า ไม่ร่วมกันทำ ไม่ ไม่มีทางก้าวหน้า
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔)

คำว่า ปรองดอง คำว่า สามัคคี สำคัญมาก ต้องมาหาทางที่ ที่มารวมปรองดองได้ แต่ว่าที่เป็นอย่างนี้ คน ๒ คน ความคิดไม่เหมือนกัน มีไม่เหมือน มีให้เหมือนกันไม่ได้ คน คนแต่ละคนมีความคิดต่างกัน มีแนวชีวิตคนละอย่าง ได้เรียนรู้มาคนละอย่าง ได้มีประสบการณ์มาคนละอย่าง แต่ว่าถ้ามา มาสัมมนากันน่ะ เชิงปฏิบัติการ ก็จะสำเร็จได้
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔)

การก้าวหน้านั้น นายกฯ ก็ได้ให้สูตรไว้แล้วว่าทำยังไงให้ก้าวหน้า คือ จะต้องสามัคคีกัน ร่วมกันทำ แล้วถ้าร่วมกันทำ มันก้าวหน้าได้ แต่ถ้าไม่ร่วมกันทำ ไม่ ไม่มีทางก้าวหน้า
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔)

จาก http://www.sufficiencyeconomy.org/mfiles/1072323831/File%2016_K.pdf

ไม่มีความคิดเห็น: